Friday, April 8, 2011

อิงแลนด์แดนผู้ดี?


เตรียมตัว: หลายๆคนบอกว่าอิจฉาที่ฉันได้มาเยือนถิ่นผู้ดีประเทศอังกฤษ ฉันเองยังอิจฉาตัวเองเลย อดตื่นเต้นไม่ได้เลยเตรียมตัวเป็นการใหญ่ตั้งแต่ก่อนมาก็หาโน้นนี่มาอ่าน เปิดรูปดู เพื่อให้พร้อมกับการเดินทาง สิ่งก่อสร้างอันวิจิตรตระการตา หอนาฬิกาที่รู้จักกันทั่วโลก ชิงช้าสวรรค์อันใหญ่ยักษ์ที่แม้จะมีที่อื่นลอกเลียนแบบก็ยังลบภาพของลอนดอนอาย (London eye) ไม่ได้ ระบบขนส่งที่สะดวกสบายไปทุกที่ได้อย่างง่ายดาย ยิ่งชื่นชมเข้าไปใหญ่เมื่ออ่านพบว่าคนอังกฤษดำเนินชีวิตเรียบง่าย ไม่ว่าจะใส่สูทผูกไทด์ก็ยังนั่งเล่นในสวนสาธารณะ หนังสือพิมพ์แจกฟรีมีทั่วเมืองแม้จะทิ้งลงถังขยะแล้วเขาก็เก็บมาอ่านกัน เพราะว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

มุ่งหน้าสู่อังกฤษ: พอเหยียบลงมาจากเครื่องบินก็ต้องนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินหรือที่เรียกกันว่า Tube ต่อไปยังที่หมายปลายทาง รถไฟฟ้าที่มีสถานีมากมายแต่ก็ปิดซ่อมบ่อยครั้งให้ต้องนั่งอ้อม สภาพรถไฟฟ้าก็ดูเก่ามาก หนังสือพิมพ์ที่มีแจกฟรีและใครจะหยิบมาอ่านต่อจากใครก็ได้ กระจุกกระจายอยู่ทุกหลืบบนรถ คนขึ้นกันแน่นขนัด บางคนฟังเพลงเสียงดัง บางคนวางของบนเก้าอี้โดยไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมีที่นั่งไหม

ถึงที่หมาย: ฉันอาศัยอยู่ในบ้านพักสองชั้น บ้านเรือนที่นี่จะเป็นแบบเดียวกันหมดซึ่งมองดูสวยงามแต่ก็ถูกจำกัดอิสระอยู่มากมาย บ้านห้ามทาสี อะไรผุพังก็ต้องใช้วัสดุซ่อมแซมให้เหมือนเดิม ขอบหน้าต่างต้องเป็นแบบเดียวกัน สีต้องเหมือนบ้านอื่นๆ ยิ่งใครหวังจะสร้างบ้านใหม่คงลืมไปได้เลย บ้านในเมืองอังกฤษส่วนใหญ่สร้างด้วยหิน ซึ่งมาจนถึงวันนี้หินในประเทศอังกฤษก็คงเหลือน้อยเต็มทีจึงต้องนำเข้ามาจากฝรั่งเศสทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก บ้านนี้เป็นบ้านเช่ารวมอยู่ด้วยกันสามคน สิ่งที่เจอคือสังคมแบบตัวใครตัวมัน เจอหน้ากันก็คุยกันพอเป็นพิธีต่างคนต่างออกไปเรียนหรือทำงาน กลับมาก็อยู่ในห้องหรือดูทีวี อาหารการกินก็ส่วนของใครของมันดูแลและจัดการตัวเอง ทำให้ในบ้านมีขนมปังสามแถว มายองเนสสามขวด ดีที่ไม่ต้องแยกเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็นด้วย

สังคมภายนอกนั้นฉันเองก็ไม่อาจจะสรุปรวมได้เพราะมีคนมากหน้าหลายตา หลายเชื้อชาติมารวมกันอยู่ที่ประเทศแห่งนี้ แต่ที่ประหลาดใจคือเด็กที่สามารถพบเห็นได้ทุกที ซึ่งเดิมทีคิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการควบคุมประชากรกันมากกว่านี้ วันนี้เจอภาพน่ารักเด็กน้อยวัยประมาณ 5-6 ขวบกำลังช่วยแม่เข็นรถเข็นน้องที่ยังแบเบาะอยู่ ในขณะที่แม่อุ้มน้องอีกคนวัย 3-4 ขวบ เป็นภาพที่น่ารักและน่าตกใจในเวลาเดียวกันว่าทำไมเด็กถึงเยอะอย่างนี้และอนาคตเกาะเล็กๆแห่งนี้จะสามารถรองรับประชากรมากมายเหล่านี้ได้อย่างไร

จะไม่ให้ประชากรล้นทะลักได้อย่างไรเมื่อเจอเด็กวัยประมาณ 13-15 ปียืนกอดกันบนรถไฟฟ้า โตกว่านั้นน้อยก็จูบกัน เพื่อนร่วมบ้านซึ่งอายุไม่น่าจะเลย 24 ปีกำลังตั้งท้อง คนแต่งงานก่อนยังไม่จบปริญญาตรี อากาศหนาวมากแต่ก็ใส่กระโปรงกันแค่คืบ ผับบาร์มีอยู่ทุกหนทุกแห่งแม้กระทั่งในรั้วมหาวิทยาลัย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดามาก และฉันมีโอกาสได้เล่าให้เพื่อนหลายคนฟังก็มีคนบอกว่าวัฒนธรรมต่างกัน อย่าเอามาตราฐานของวัฒนธรรมเราไปชี้วัดคนอื่น จึงอยากถามกลับไปเหลือเกินว่าเราเธอเอามาตราฐานอะไรมาชี้วัดว่าเขาเป็นผู้ดี การแต่งตัว? การศึกษา? รายได้?

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าเมื่อเราไปอยู่ที่ใด เราก็มักจะเห็นข้อเสียของที่นั้นๆ แต่ละที่ก็ย่อมมีข้อดีข้อเสียต่างกันออกไป สุดท้ายคนอังกฤษก็เป็นคนอย่างเราๆนี่เอง

อิงแลนด์ (ใครว่า) แดนผู้ดี

*อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เขียนจากความคิดเห็นส่วนบุคคลและสิ่งที่เจอมา หลายคนก็อาจจะเจออะไรต่างกันหรือมองกันต่างออกไป


Thursday, January 27, 2011

ไทย2ญวน60

เมื่อเช้าเห็นพาดหัวข่าวนสพ. ว่า"ไทย2ญวน60 สถิติการอ่านหนังสือ"
ก็รู้สึกเออ อ่านน้อยนะคนไทย แต่ก่อนที่จะเห็นข้อความนี้ได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือเก่าๆ เล่มหนึ่งมานิดนึง เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ อ่านไม่หมดด้วย แต่โดยที่หนังสือพูดคือประมาณว่า
การที่เราจะอ่านหนังสือเล่มใดนั้น ควรจะถามตนเองว่าอ่านเพื่ออะไร ต้องการอะไรจากการอ่านครั้งนี้
การที่เราอ่านหนังสือที่เค้าแนะนำกันหรือว่าอ่านหนังสือที่ควรอ่านโดยที่คิดว่าอ่านเพราะเค้าว่าเป็นหนังสือที่ดีน่าอ่าน แต่ตนเองไม่ได้อยากอ่านนั้นแม้อ่านจนจบเล่มแล้ว เราก็จะไม่ได้อ่านอยู่นอกจากคำว่า เราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนะ
หนังสือนั้นสามารถอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาที่เราอยากอ่าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดสถานการณ์ใดก็ตาม การที่บ้างคนชอบอ้างปัจจัยต่างๆที่ทำให้อ่านไม่ได้นั้น น่าจะเป็นความเห็นแก่ตัวของผู้อ่านเองมากกว่า

จากการที่ได้อ่านหนังสือเก่าๆ เล่มนี้ ทำให้มุมมองต่อข้อความข้างบนเปลี่ยนไป ถ้าเมื่อก่อนผมคงจะคิดว่าคนไทยเนี่ย ขี้เกียจนะ โดนต่างชาติเค้าแซงไปอีกแล้ว แต่มีความคิดอีกแบบที่โผล่ขึ้นมาคือว่า คนไทยนั้นยังไม่สามารถหาหนังสือของตนเองที่จะอ่านได้หรือเปล่าหรือว่า ปริมาณหนังสือที่อ่านเนี่ยไม่ได้บอกถึงความฉลาดหรือบางสิ่งบางอย่างที่เพิ มพูนจากการอ่านหนังสือก็ได้

ปล. อยากให้ผู้ร่วมเดินทางในบล็อกได้แสดงความคิดเห็นกันด้วยนะครับ

Thursday, January 13, 2011

เหตุเกิด ณ พื้นที่เสี่ยง... ที่ขอบแห่งพรมแดนความรู้


มีบทเรียนมาแบ่งปันพวกเรา เป็นบทเรียนที่มีความหมายกับนักเดินทางรุ่นพี่ๆ น้องๆ ที่เคยผ่านคลาส... "แบบพวกเรา" มา ช่วยสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับชีวิตและโลก และเป็นหนึ่งในเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่และเพื่อนหลายคนได้ก้าวออกไปทำอะไรที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะทำได้ (หรือแม้กระทั่ง...ได้ทำ) โดยที่ไม่รู้สึกว่าจะต้องทำอย่างกล้ำกลืนฝืนทนนะ

คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับพวกเราที่ได้มีประสบการณ์ทำ individual project (ไม่ว่าจะอยู่ใน status ไหนก็ตาม) ในวิชานี้ และเกี่ยวกับ Solo Time (ที่บางคนเขียนเป็น Zolo Time) ที่เราได้ไปลองกันมาด้วย และอาจเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเราเองก็ได้ ยังไงก็...เป็นกำลังใจให้เด้อ! :-)
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 


โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ที่พรมแดนแห่งความรู้ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๙
-------------------------------------------------------

ในสถานการณ์หนึ่ง แต่ละคนจะเรียนรู้ได้เร็วช้าต่างกัน ทว่าหากสถานการณ์เก่าภาวะเดิมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะใหม่ อาจกลายเป็นว่าคนที่เคยเรียนรู้ได้ช้ากลับสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สาเหตุเพราะว่าเราแต่ละคนนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถและรูปแบบในการเรียนรู้ได้แตกต่างกันในภาวะที่ต่างกันออกไป

การเรียนการสอนในห้องเรียนโดยปกติทั่วไป เรามักจะจัดแบบเหมาโหล เปรียบเทียบกับการตัดเย็บเสื้อผ้าก็คือ ตัดเสื้อขนาดเดียวแต่ให้ใช้สำหรับทุกคน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแบบที่ตัดคุ้กกี้ (Cookie cutter) เพราะมีพื้นฐานแนวคิดความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคน (อันเปรียบเสมือนคุ้กกี้แต่ละชิ้นที่ผลิตออกมาจากที่ตัดอันเดียวกัน) เหมือนกันหมดทุกประการไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความสามารถ หรือความสนใจ

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่าว่าแต่สำหรับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งหรือนักเรียนกลุ่มหนึ่งเลย ลำพังเพียงเราแต่ละคนก็ยังมีความพร้อมไม่เหมือนกันในการเรียนเรื่องเดียวกันในเวลาต่างกัน

การเรียนการสอนในปัจจุบันโดยมากนั้นเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบเดียว จึงต้องพยายามสร้าง “บทเรียน” อันมีลักษณะกลางๆ เหมือนกับสอนตรงค่าเฉลี่ย ให้ผู้เรียนส่วนใหญ่หรือผู้เรียนทั้งหมดในห้องเรียนพอจะรับได้ พอจะเข้าใจได้ บทเรียนหรือความรู้นั้นจึงต้องเป็นเรื่องราวเป็นชุดประสบการณ์ที่แบนๆ เรียบๆ ไม่ค่อยมีหลายมิติเท่าไหร่นัก ว่าด้วยเนื้อหาใจความสำคัญหลัก ทำให้รูปแบบของกระบวนการเรียนที่ปรากฏคือ มีผู้สอนยืนบรรยายเนื้อหาความรู้หน้าชั้น และผู้เรียนก็ได้รับประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือนั่งตาปรือ ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

สถาบันการศึกษาทั่วไปมักเป็นการนำเสนอบทเรียนที่มีลักษณะกลางๆ เป็นเนื้อหาความรู้ว่าด้วยเทคนิควิชาอันเป็นเรื่องนอกตัวผู้เรียน แต่ละวันถูกนำเสนอโดยไม่สนใจว่าผู้เรียนอยู่ในภาวะเช่นไร จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าความรู้ที่ได้มีความสัมพันธ์และสำคัญกับตัวเองแต่อย่างไร

แต่นั่นคือปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีต

ทิศทางและความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ของโลกยุคปัจจุบันมุ่งไปสู่การพัฒนาสมดุลของการเรียนรู้ภายนอกตัวกับในตัว กล่าวคือ หลอมรวมความรู้นอกกายนอกตัวเข้ากับการเรื่องรู้กายรู้ใจตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ได้ชื่อว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) โดยให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับภาวะและพื้นที่ของแต่ละคน
หนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาคือ คนเราแต่ละคนมีการเรียนรู้ต่างกันในภาวะที่ต่างกัน และภาวะที่ต่างกันนี้ก็เป็นความต่างจากมุมมองของความคุ้นเคยหรือความปลอดภัยของแต่ละบุคคลด้วย ภาวะดังว่านี้อาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ พื้นที่สบาย (comfort zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกคุ้นเคย ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายและปลอดภัย (“พื้นที่การเรียนรู้” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ทางกายภาพแต่อย่างเดียว อาจเป็นรูปแบบหรือลักษณะของกิจกรรมหรืออื่นๆ) ระดับต่อมาคือ พื้นที่เสี่ยง (risk zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกระแวดระวัง รู้สึกถึงความสุ่มเสี่ยง ไม่มีความคุ้นเคย แต่ยังถือว่าพอรับได้ และระดับสุดท้ายคือ พื้นที่อันตราย (danger zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกไม่มีความปลอดภัย

ในพื้นที่สบายนั้น ย่อมแน่นอนว่ามนุษย์เราสามารถเรียนรู้บางอย่างได้ดี แต่ก็มักจะเป็นความรู้คนละชุดกันกับความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่อันตราย การมีสติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงนี้เองจะทำให้เรามีโอกาสการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา หรือความเป็นตัวเราเอง

ฉะนั้น สำหรับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก คือการจัดสภาพแวดล้อมหรือบทเรียนที่แม้จะเป็นรูปแบบเดียว แต่มีหลายมิติ สภาพการณ์ดังว่าจึงเป็นภาวะที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน และภาวะที่ต่างกันทำให้มีความหมายต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยต่างคนก็สามารถออกแบบหรือจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเองได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมของ Earth Expeditions ซึ่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ที่สหรัฐอเมริกา ได้ส่งครูชาวอเมริกันสิบกว่าคนมาเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทางผู้จัดในไทย (ได้แก่ สถาบันขวัญเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว และมหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา (Contemplative Learning) เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

กล่าวคือ ในกระบวนการทั้งหมดเราได้สนับสนุนเชื้อเชิญให้ผู้เรียนได้มีสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับใจ อยู่กับความรู้สึกของตนเอง จากนั้นก็เชิญชวนให้แต่ละคนก้าวออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคยเดิม ตามที่ตนเองได้มีโอกาสเลือกเอง ไม่ควบคุมบังคับ

หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือการให้โอกาสแต่ละคนได้อยู่คนเดียวในป่าธรรมชาติที่ดอยเชียงดาว กิจกรรมนี้ได้เกิดผลต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ เรียกว่าอยู่กลางพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะสบายเลย ในขณะที่อีกหลายคนกลับรู้สึกว่าตนเองออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือภาวะเสี่ยงเต็มๆ เกือบจะพลัดเข้าไปสู่ภาวะอันตรายเสียด้วยซ้ำ แต่ละคนได้เลือกว่าออกไปไกลหรือนานเท่าใดจึงจะเป็นการออกจากภาวะหรือพื้นที่สบาย ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ใช่พื้นที่อันตราย (จนเกินไป)

ยิ่งกิจกรรมนี้ผนวกด้วยการเชิญชวนให้ไม่เอาอะไรไปทำในป่า เช่น ไม่เอาหนังสือไปอ่าน หรือไม่เอาบันทึกไปจด หรือไม่เอาอาหารไปกิน ... การอยู่ว่างๆโดยไม่ทำอะไรนี่ก็เช่นกัน เป็นเรื่องปอกกล้วยเข้าปากสำหรับบางคน แต่ถึงขนาดเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับคนอื่นๆ

สิ่งที่พบหลังจากแต่ละคนกลับออกมา หลายคนสะท้อนความเห็นออกมาอย่างไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมง่ายๆ เท่านี้จะทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง รู้จิตรู้ใจตัวเอง และเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น

การเรียนรู้เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิควิธีการเรียนรู้ที่จะนำพามาบอกเล่าในพื้นที่คอลัมน์นี้ (ที่จะพบกันทุกวันอาทิตย์) ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแวดวงของการเรียนรู้ทั้งไทยและเทศ เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ที่พรมแดนความรู้ในเรื่องของการเรียนรู้ อาจเป็นเทคนิควิธีแบบใหม่และอาจเป็นการให้ความหมายใหม่กับเทคนิควิธีการเรียนการสอนแบบเดิม เพื่อขยายมุมมองของเราทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

Sunday, January 2, 2011

Quest Item & Evaluation



เดินทางในคลาสด้วยกันมาเกินครึ่งทางแล้ว
มองเห็นตนเองและเพื่อนๆ ยังไง
คิดว่าเราแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง

ทำ Quest Item กับประเมินแล้ว
มีความคิดเห็นหรือรู้สึกอะไร
มาแบ่งปันกันในนี้ได้ค่ะ


:-)

ประชาชน ปฏิรูป ประเทศไทย



จากเอกสาร "ประชาชน ปฏิรูป ประเทศไทย"
อ่านแล้วมีความเห็นยังไงบ้าง
มาคุยกันในนี้ได้ค่ะ :-)

ถ้ายังไม่ได้ดาวน์โหลดมา
ก็นี่เลย
ประชาชน ปฎิรูป ประเทศไทย

ลงหนังสือพิมพ์มติชนด้วย


ให้พวกเราอ่าน
ก่อนมาคลาสวันที่ ๑๑ มกรา ๕๔ นะคะ

:-)

Our Daily Bread


เรื่องนี้เป็น optional นะ
แต่มีคำแนะนำว่าถ้าจะดูทั้งสองเรื่อง
ให้ดูเรื่องนี้ก่อน Food, Inc. ค่ะ

ดูแล้วเป็นยังไง
คิดเห็น/มีประเด็น/เมนท์อะไร
มาแบ่งปันกันในนี้ได้เลย :-)


Food, Inc.



ได้ดูแล้วยัง :-)

เป็นยังไงบ้าง
มีอะไรอยากเมนท์/เปิดประเด็นไหม
มาชวนพวกเราคุยกัน...

:-)

Sunday, December 5, 2010

ต้นไม้

เกิดบนดิน หยัดยืนพื้นพสุธา
ขึ้นมาจนเป็นต้นไม้
อิ่มอาหาร มีน้ำเลี้ยงร่างกาย
กิ่งใบงอกงามแข็งแรง

วันพรุ่งนี้เป็นวันที่พวกเราทุกคนรู้กันดีว่ามีความสำคัญอย่างไร
แต่วันนี้...จะมีสักกี่คนกันนะที่จะรู้ว่า เป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย"
ยิ่งไปกว่านั้น ใน "วันสิ่งแวดล้อมไทย" ประจำปี 2553 นี้ ยังเป็นวันที่เราอาจจะต้องจดจำไว้ เพื่อเล่าให้คนรุ่นหลังฟังว่า
เป็นวันที่ต้นไม้ใหญ่น้อยบนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 35 ถูกโค่นทิ้งไปทั้งหมด...


ถ้าใครได้นั่งรถไฟฟ้าผ่านสถานีพร้อมพงษ์ คงจะได้เห็นหย่อมสีเขียวๆ ในซอยสุขุมวิท 35 บ้าง
ภาพข้างล่างเป็นภาพถ่ายทางอากาศ คงจะไม่ได้เห็นวิวประมาณนี้จากสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ใกล้เคียง


ชุมชนของต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ เป็นต้นก้ามปู และต้นอื่นๆ ที่มีอายุร่วมๆ 100 ปี
ด้วยคุณค่าทางระบบนิเวศ ชุมชนต้นไม้ใหญ่ เปรียบเสมือน "Sanctuary" เล็กๆ ใจกลางเมืองที่มีแต่ตึกสูง คอนกรีต ถนน และเสาตอม่อรถไฟฟ้า ให้กับต้นไม้เล็กๆ ต้นอื่นๆ นก แมลง แมง และสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่ามากมาย
และสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมานาน หรือแม้แต่คนที่ผ่านไปผ่านมา "ต้นไม้ใหญ่" ก็มีคุณค่าทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน
คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก ก็เหมือนกับเราเดินเข้าคณะวิทย์ เห็นสวนป่าของคณะแล้วรู้สึก "เย็น" รู้สึก "ดี" รู้สึก "ชุ่มชื่น" อย่างไร

ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นความรู้สึกร่วมของทุกผู้คน เป็นความ "รัก" ในสิ่งมีชีวิต "รัก" ในธรรมชาติ ซึ่ง Edward O Wilson ได้เสนอทฤษฎีว่าด้วย "Biophilia" มาอธิบายเรื่องนี้
หลายๆ คนคงได้มีประสบการณ์ตรง หรือไม่ก็มีญาติสนิทมิตรสหาย รักสัตว์เหมือนลูก ใช่มั้ย?
ต้นไม้ใหญ่กลางเมือง ดังเช่นชุมชนต้นก้ามปูในซอยสุขุมวิท 35 ก็เช่นเดียวกัน

ต้นไม้ใหญ่กลางเมือง จึงถือว่าเป็น "สาธารณสมบัติ" ที่หลายๆ ประเทศให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย ประชาชนของบางรัฐในอเมริกา แคนาดา หลายประเทศในยุโรป หรือแม้แต่สิงคโปร์บ้านใกล้เรือนเคียงของเรา แม้ตนเองจะมีสิทธิ์ในที่ดิน ในบ้านของตัวเอง แต่ไม่สามารถตัดต้นไม้ใหญ่ได้โดยพลการ ต้องขออนุญาตจากทางการก่อน หรืออาจต้องถึงขั้นทำประชาพิจารณ์กับพลเมืองในชุมชนนั้นๆ กันเลยทีเดียว


ดูๆ ไปก็ตลกดี เมื่อบรรดาบริษัท บรรษัท ห้างร้านต่างๆ ออกมาเกาะกระแสโลกร้อน ทำแคมเปญ CSR (coporate social responsibility - องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม) กันยกใหญ่ ทั้งแจกถุงผ้า เสื้อแจ็กเก็ต พาคนไปปลูกป่าชายเลน หรือแม้แต่นำสัตว์มาแสดงโชว์ในห้าง (เรื่องการนำสัตว์มาโชว์ในห้าง เป็นดราม่าอีกเรื่องนึงได้เลย) แต่การรักษาต้นไม้ใหญ่ กลับถูกเมิน เมื่อพื้นที่ตรงนั้นได้ตกเป็นของนายทุน ซึ่งกำลังจะสร้างห้างสรรพสินค้าขึ้นมาอีกแห่ง (คำใบ้: เป็นสาขาที่สอง ของห้างสรรพสินค้าในย่านนั้น)



เป็นข่าวในสังคมออนไลน์มาแล้วพักใหญ่ๆ กับการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ชะตากรรมของต้นไม้ใหญ่ในซอยสุขุมวิท 35 รวมไปถึงการรณรงค์ให้ชะลอ และร่วมกันหาทางออกให้กับต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ในแนวทางของสันติวิธี ในนามของ Big Trees
การต่อสู้เริ่มมีความหวัง เมื่อพลังของสังคมออนไลน์เร็วเสียยิ่งกว่าปากต่อปาก และเดี๋ยวนี้สื่อก็มักจะมองหาข่าวจากสื่อสังคมเสียด้วยซ้ำ มติชนลงข่าวถึงเรื่องนี้ คมชัดลึกลงข่าวหน้า 1 ให้ และลงข่าวซ้ำติดตามความเคลื่อนไหว ยังมีไทยรัฐช่วยลงข่าวอีกแรง และนักข่าวเนชั่นที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่สังคมออนไลน์ก็เขียนบล็อกและทำรายงานข่าวถึงเช่นกัน



วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เขตวัฒนา กทม. และตัวแทนกลุ่ม Big Trees ก็ได้หารือกันหน้าโครงการก่อสร้าง อาจมีทางออกคือการล้อมต้นไม้ไปปลูกที่สวนสาธารณะของกทม. หรือที่ดินที่นครราชสีมาของเจ้าของที่ดิน


แต่...น่าตลกอีกแล้วครับท่าน!
ในวันสิ่งแวดล้อมไทยนี้เอง ต้นไม้ใหญ่ทั้งหมด ได้ถูกโค่นลงในวันนี้...


เรามาดูภาพหลังตัดต้นไม้กันดีกว่าครับ





เกิดบนดินแดน ทดแทนมากมาย
แต่กลับต้องตาย ให้กับความรุ่งเรือง
ถูกคนทำลาย เพื่อไปสร้างเมือง
นี่คือเรื่องราว เหล่าพันธุ์พืชไพร

...

ข้อมูลทั้งหมด (รวมถึงรูปด้วย) ผมนำมาจาก Fan Page ของ Big Trees (http://www.facebook.com/BIGTreesProject) ซึ่งสามารถอ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องได้จาก Notes ของ Fan Page ครับ

Saturday, December 4, 2010

a.story

เคยมีคำถามกันในหมู่อาจารย์ร่วมคลาสว่า "เราต้องแนะนำตัวด้วยไหม?" และมีคำตอบกันว่า "ไม่จำเป็นต้อง แต่ถ้ามีก็จะดีมาก" จึงหวังว่าการออกตัวของผมครั้งนี้จะเหนี่ยวนำให้อาจารย์ท่านอื่นร่วมวงสนทนาว่าด้วยการแนะนำตัวเป็นลำดับต่อมา

อาจารย์เอเชียเคยถามผมว่า "อยากให้นศ.ในคลาสเรียกว่า อาจารย์หนุ่ม หรือพี่หนุ่ม?"
"เรียกว่าพี่หนุ่ม มั้ง" เพราะสรรพนามนำหน้าว่าอาจารย์มักถูกคนในวัยใกล้กันหรือสูงกว่ามาเรียกเสมอ นอกจากนี้ก็ไม่ได้มีสถานภาพเป็นอาจารย์ในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหิดลเสียด้วย



ตามธรรมเนียมนิยมครับ ขอเล่าเรื่องประวัติการศึกษา ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปริญญามา 2 ใบ ใบแรกคือสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต นับว่าเป็นผลงานทางการศึกษาในชีวิตที่ได้มาแบบไม่เหนื่อยยากมากนัก เพราะเลือกคณะที่ไม่ต้องแข่งขันมาก เมื่อยุคสมัยที่สังคมไทยยังใช้การสอบทั้งประเทศโดยให้นักเรียนเลือกคณะได้ 6 อันดับ ผมก็เลือกแค่ 3 เหตุเพราะไม่ค่อยมีคณะไหนที่ 1)ไม่ต้องสอบวิชาชีววิทยา 2)น่าสนใจ และ 3)คะแนนต่ำพอจะให้เลือกเผื่อไว้ในอันดับที่ 4-6 ได้ ด้วยเหตุนี้จึงประหยัดค่าสมัครสอบไปได้มาก สอบแค่ 5 วิชา 3 อันดับ กับเงินค่าสมัครที่ยืมคุณแม่ของเพื่อนไปจ่าย จนบัดนี้ก็เข้าใจว่าผมยังไม่มีโอกาสได้ใช้คืน

ส่วนอีกใบคือพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต แต่ขอแนะนำตัวไฮไลท์ในช่วง 4 ปีของใบแรกครับ

ช่วงเวลาที่ใช้ไปสำหรับได้ปริญญาตรีก็นับว่าคุ้ม ผมเลือกที่นี่เพราะอยากจะห่างจากฟิสิกส์ ชีววิทยา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้ว่าจะมีโควตาและสัมพันธ์ทางใจในฐานะนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ มา 2 ปีก็ตาม เมื่อมาอยู่แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล (ดังเนื้อเพลง..) ก็ไม่เคยรู้ตำนานอะไรมาก่อน (ไม่รู้แม้แต่สีประจำมหาวิทยาลัย) งานรับเพื่อนใหม่จึงเป็นเสมือนจุดพลิกผัน การได้รู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นชีวิตระดับอุดมศึกษาเปลี่ยนไปมาก

ตลอดทั้ง 4 ปีนั้นจึงอยู่ในแวดวงกิจกรรมการเมืองเป็นส่วนใหญ่ เรียนเป็นส่วนน้อย วิชาไหนที่ไม่ต้องชะตาก็ไม่สนใจ ยังผลให้เก็บเกรดได้งดงาม คือ A B+ B C+ C D+ D F และ W ได้ครบถ้วนในช่วงปี 1 (ถ้าติด I แล้วสภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาได้ก็คงจะมี) โดยมากวิชาที่จะได้ D+ และ D คือ วิชาที่มีข้อสอบเป็นปรนัย ปล่อยให้ขาดสอบได้ F มา 2 วิชา อีกวิชาได้ F มาเพราะทะเลาะกับอาจารย์ เคราะห์ดีที่คณะประมาณนี้มักมีข้อสอบอัตนัย ทำนองว่า 3 ชั่วโมง 28 ข้อ ทำให้ได้ A จาก 17 วิชา มาดึงเกรดเฉลี่ย

ความประทับใจอย่างหนึ่งที่มีต่ออาจารย์ในครั้งนั้นคือ วิชาภาษาไทยปี 1 มีหนังสืออ่านนอกเวลา ได้แก่ สิทธารัตถะ และ ก่อนสายหมอกเลือน เล่มหลังนี้อาจารย์ได้เชิญคุณโบตั๋น ผู้ประพันธ์มาบรรยายถาม-ตอบให้นักศึกษาทั้งชั้นปีทุกคณะมาฟัง มีเพื่อนถามไปว่า "สายหมอกในเรื่องนี้จะสื่อความหมายถึงอะไร?" คุณโบตั๋นให้คำตอบ ทุกคนจดกันใหญ่ แต่ผมรู้สึกไม่ชอบใจไม่เห็นด้วย เมื่อถึงวันสอบ มีข้อสอบอัตนัยเพียงข้อเดียวว่า "สายหมอกในเรื่องนี้หมายถึงอะไร" ผมจึงตัดสินใจตอบตามใจชอบแต่ไม่ตรงกับเฉลยของคุณโบตั๋น ย้ำด้วยว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร สุดท้ายได้ A ขอขอบพระคุณอาจารย์ภาษาไทยที่เปิดกว้างทางความคิดมา ณ ที่นี้

ส่วนกิจกรรมนั้นผมเคยได้รับเลือกตั้งไปทำงานในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำแหน่งประชาสัมพันธ์เมื่อปี 2 และเหรัญญิกเมื่อปี 3 ทำให้พบประสบการณ์แปลกใหม่ อาทิ ผลงานการเขียนโปสเตอร์และป้ายผ้ากว่า 20 ชิ้นถูกใช้ในขบวนแห่ล้อการเมืองงานฟุตบอลประเพณี โดยที่เจ้าของผลงานไม่ไปร่วมงานนี้เลยแม้แต่ปีเดียว ช่วงทำหน้าที่เหรัญญิกก็หาญกล้าไปตัดงบซื้อผ้าไตรทำบุญถวายพระของชุมนุมพุทธศาสนา ประมาณว่ากล้าขอมาก็กล้าตัด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผมเห็นและมองเรื่องราวเหล่านี้ต่างไปจากเดิมไม่น้อย เพราะไม่สามารถเปลี่ยนไปโดยแก่แค่ทางกายภาพได้ ช่วงเวลานี้ของชีวิตเป็นงานที่ห่างไกลการเมืองแต่เข้าใกล้การศึกษามากขึ้น องค์กรไหนไว้วางใจก็จะไปจัดกระบวนการจัดอบรมให้เขา เขียนบทความเบาๆ สั้นๆ ให้กรุงเทพธุรกิจบ้าง รับงานอีเว้นท์คล้ายพวกดารา แต่ว่าได้เงินน้อยกว่าหลายสิบเท่า บ้างก็ทำฟรี

เอาเป็นว่าเลือกช่วงระยะเวลาจำเพาะมานำเสนอก็คงรู้จักกันพอหอมปากหอมคอแล้ว มิเช่นนั้นต้องร่ายยาวมากเท่าอิชมาเอลค่อนเล่มคงกลายได้เป็นรู้เช่นเห็นชาติกันแทน

ยินดีที่ได้ร่วมเดินทางกับทุกคนใน NREM10 นะครับ

Tuesday, November 30, 2010

แนะนำตัวครับ


ผมชื่อ เผชิญสุข ธีระนุกูล ชื่อเล่นพีท เรียนอยู่ BI ปี 3 ครับ
ขอเรียกแทนตัวเองว่า พีท เลยนะครับ
แบบสั้นๆนะ
พีทเกิดที่ต่างจังหวัด เป็นคนดื้อมาตั้งแต่เด็ก ไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งคนอื่น ชอบไปเรื่อยๆ สบายๆ ไม่มีอะไรมาผูกมัดเท่าไหร่ ชอบโดดเรียนและหลับในห้องด้วยตอนแรกๆครูเค้าก็ว่า แต่หลังๆเหมือนครูเริ่มชินแล้วมั้ง
ส่วนเวลาว่างชอบไปจับกว่าง จับปลามาตีกัน บ้างก็เล่นว่าว(อยากคิดลึกนะ 555) เล่นแบทุกอย่างทที่เด็กต่างจังหวัดเค้าทำกัน ด้วยเวลาว่างๆที่ต้องไปหากว่าง หาปลาเนี่ยแหละ ทำให้พีทมีคามใกล้ชิดกับธรรมชาติ พอโตมาเริ่มได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมากขึ้น ได้ไปที่โน่น ที่นี้ เห็นความสวยงามของสถานที่โน่นที่นี้
เวลาว่างตอนโต ชอบเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งไปป่าเขา ทะเล น้ำตก ชอบไปเที่ยอุทยานแห่งชาติต่างๆ เวลาที่พีทเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติแล้ว รู้สึกสบายใจ เหมือนว่าเราอยู่กับคนที่จริงใจกับเรา มอบทุกอย่างให้กับเรา พีชอบฟังเสียงน้ำไหล เสียงคลื่นสาดเข้าหาฝั่ง เสียงหรีดเรไรร้องเวลาอยู่ในธรรมชาติ พีทจะชอบสังเกตดูโน่น ดูนี้ เลยเป็นที่มาที่ทำให้พีทมาเรียน BIO
ส่วนอนาคตก็อยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ พีทรู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันจบสิ้น พอเรียนจบก็อยากทำงาน เลี้ยงผู้มีพระคุณที่เค้าเคยดูแลเรามา หาแฟนดีๆ น่ารักๆ แต่งงาน มีลูก ก็คงเหมือนกับหลายๆคนที่ฝันไว้เช่นนี้เหมือนกัน

หนาว เหงา เหม่อ


เป็นวันที่ 14 แล้วที่อยู่ที่รัสเซียและเป็นคืนสุดท้ายที่จะอยู่ที่นี่ ตอนนี้อยู่ที่ St.Petersburg จริงๆกิจกรรมที่มาเข้าร่วมจบไปได้ประมาณเกือบอาทิตย์นนึงแล้ว และก็บ้าจี้ตามคำยุยงของเพื่อนมาเที่ยวต่อด้วยกัน นั่งเครื่องจาก Vladivostok มายัง Moscow ใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินถึง 8 ชั่วโมง เวลาทั้งสองที่ต่างกัน 6 ชั่วโมง ชั่งเป็นประเทศที่ใหญ่มโหฬารจริงๆ

ตอนนี้แอนอยู่ hostel ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เคยอยู่ Hostel ในนี้มีแต่คนเดินทาง คนเตียงข้างล่างอยู่รัสเซียมาสามเดือนแล้ว ผู้ชายที่กลับไปเมื่อวานเดินทางไปอินเดียต่อ ผู้หญิงอีกคนอยู่ Moscow มาอาทิตย์นึงและจะอยู่ St'peter อีกอาทิตย์นึง ส่วนเพื่อนคนเวียดนามที่แอนตกลงปลงใจมาด้วยกันก็อยู่อเมริกามา 6 ปี จีน 1 ปีและเคนย่าอีก 3 ปี การเดินทางสำหรับคนๆหนึ่งจะมีคำว่ามากเกินไปไหมนะ? การเดินทางสำหรับคนแถบยุโรปถือเป็นเรื่องปกติมากในขณะที่แถบบ้านเรายังยากอยู่มาก การ gap ชีวิตวัยเรียนในเมืองไทยกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เด็กจบมัธยมหรอห้ามเที่ยว ต้องสอบเข้ามหาลัยเท่านั้น (ถ้าไม่งั้นปีหน้ามันจะเปลี่ยนระบบอีก 555) เราน่าจะบรรจุการเดินทางไว้ในหลักสูตรซะเลย อาจจะคล้ายๆกับสิงคโปร์ที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมก่อนหนึ่งปีถึงเข้ามหาลัยได้

การตกลงปลงใจเลื่อนวันเดินทางกลับเมืองไทยไปแม้ว่ากิจกรรมจะจบไปนานแล้วเพราะว่าถ้าให้มาเที่ยวอีกทีก็คงไม่มารัสเซีย ประกอบด้วยมันเลื่อนวันเดินทางได้โดยไม่เสียอะไร ขาดเรียนเพิ่มอีกแค่สองวัน (แม้จะเสียดายที่ไม่ได้เรียน NREM อีกหนึ่งครั้ง) นอกจากนี้ยังมีเพื่อนไปด้วยและอยากเที่ยวด้วยตัวเองด้วย (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ครั้งแรก) แต่เป็นครั้งแรกที่ต้องดูแลตัวเองแทบทั้งหมด ด้วยความที่ไม่ค่อยพร้อมทำให้เราไม่ค่อยรู้อะไร ไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน รู้สึกเสียดายเหมือนกันถ้ารู้อะไรมาบ้างจะทำให้เราเสพสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น ก็เลยได้แต่ถ่ายรูปความประทับใจกลับมา เราอยู่ Moscow กันแค่วันครึ่งและนั่งรถทัวร์อีก 12 ชั่้วโมงมายัง St.petersburg ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราว เพื่อนไปไหนก็ห้อยตามเขาไป วันหลังๆเริ่มมีเวลาหาข้อมูลบ้าง แล้วก็ไม่ได้อยากไปที่ๆเพื่อนอยากไป เราก็เลยแยกกันมาเที่ยว วันนี้ออกไปเที่ยวคนเดียวทำให้เราต้องมีสมาธิมากๆ ดูเส้นทาง คอยระวังตัวเพราะว่าวันแรกที่มาโดนขโมย talking dict ไปแล้วหนึ่ง ระหว่างทางเดินกลับก็นึกถึงเรื่องของฝากแล้วก็เดินผิดทางกว่าจะรู้ตัวก็เลยมาไกลซะแล้ว ก็ต้องเดินย้อนกลับไป หนาวก็หนาว (ส่วนเรื่องเที่ยวๆและกิจกรรมนั้นเป็นไงยัง ถ้ามีโอกาสหรือถ้าอาจารย์อำนวยโอกาส อิอิ)

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เดินทางมาเมืองหนาว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่หนาวกว่าครั้งไหนๆ อากาศตอนนี้ก็ประมาณลบหกองศาได้ ทำเอาเลือดออกจมูกเลย แล้วเราก็ต้องออกไปเที่ยว ก็ไหนๆก็มาแล้ว หนาวอย่าบอกใครเชียว แอนเคยคิดว่าเมืองไทยแมร่งร้อนเป็นบ้าเลย อยากอยู่เมืองหนาว แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเมืองหนาวมันทรมานแค่ไหน หนาวจนมือเท้าไม่รู้สึก ขยับหน่อยก็เหมือนมีเข็มทิ่มแทง จมูกแดงหน้าแดง อาหารการกินก็ไม่ค่อยมีอะไร มีแต่ขนมปัง ผักผลไม้ก็แพงเหลือหลาย ที่นี่รู้แล้วว่าเมืองไทยของเราน่าอยู่แค่ไหน (ไม่รวมเรื่องการเมืองนะ)

การเดินทางไม่เคยมีคำว่าขาดทุน แต่การเดินทางทุกการเดินทางใช่ว่าจะสวยงามเสมอ...

Monday, November 29, 2010

สถานการณ์ส่ง Review ในราตรีที่ 29 พฤศจิกายน


ถึงแม้งานส่งคราวนี้จะมีเวลากำหนดที่ค่อนข้างไม่ดึกมากนัก แต่คาดว่า งานนี้ได้หูตูบกันเลยทีเดียว

สามทุ่มแล้ว ฯ ตอนนี้ เพื่อนๆเป็นอย่างไรกันบ้าง

สู้ๆๆนะทุกคน !!!

Wednesday, November 24, 2010

ตาข้าพเจ้ามั้งละกับไตรภาค




และแล้วก็มาถึงบทความการแนะนำตัวสุดท้ายของข้าพเจ้าแล้ว
เริ่มกันเลยนะ แนะนำอดีตบางอย่างซักนิดนึง ข้าพเจ้าเป็นพวกอาบน้ำเปล่าไม่ถูสบู่นานๆจะถูที เรียกว่าสระผมมากกว่าถูสบู่เสียอีกเนื่องจากว่าเคยแพ้สบู่ใช้มีอาการคัน ถึงขั้นนอนไม่หลับก็เลยละมันซะ ถ้าไม่รู้สึกสกปรกจริงจะไม่ใช้ และเป็นภูมิแพ้หลายอย่างมากแค่นี้ละ
ชีวิตมหาวิทยาลัยเนี่ย ยอมรับเลยว่าเป็นช่วงชีวิตที่ปลดพันธนาการต่างๆออกไปมาก เมื่อเทียบกับตอนมัธยม เป็นช่วงที่เรามีอิสระมากและยังไม่โดนกฏหมายเล่นงานอย่างเต็มที่เหมือนตอนวัยทำงาน พูดถึงตอนปี 1 ก่อน ได้กลับมาอยู่หออีกครั้งจากตอนประถม 3 สังเกตว่าจะไม่มีใครมากำหนดเวลาดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ อาบน้ำเข้านอนเหมือน ในอดีต(ป.3) เป็นชีวิตที่สนุกดี ในช่วงแรกมีแนวโน้มว่าจะกลายร่างเป็นเด็กเรียน เพราะว่าเพื่อนร่วมห้องหอ(ไม่ใช่เพื่อนร่วมหอนะ)คนหนึ่ง เป็นคนที่ยังไงดีละมันขยันมากมาย คือ ก่อนนอนก็เห็นอ่านหนังสือ (นอนตอนประมาณ 4 ทุ่มเด็กอนามัยมั้ยละ) ตื่นตอนตีห้ากว่าๆ ก็เจอมันอ่านหนังสืออยู่อีก เฮ้ย!เอ็งจะไม่นอนเลยหรือไงฟะ เคยถามอยู่เหมือนกันว่ามันได้นอนหรือเปล่า คำตอบคือ . . . ได้นอนแต่นอนหลังเราและตื่นก่อน ทำให้เริ่มไฟติดในเรื่องการเรียน เริ่มอ่านตามบ้าง แต่พอเริ่มอ่านบ้างปุบ เพื่อนคนนี้ก็มีเหตุให้ย้ายออกไปดยู่หอข้างนอกปับ เลยกลับมาขี้เกียจเหมือนเดิม แฮะ
ส่วนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดตอนค่ายเสริมสร้างวิชาการและค่ายรับน้องของคณะนั้นบอกตรงๆ เลย จำไม่ค่อยได้จริงๆ นะ มึนๆ ฉากที่จำได้คือเห็นปลาจูงไอ้ปัฟมาในเอนก แค่นั้นมั้ง หลังจากที่ผ่านพ้นชีวิตมัธยมมาแล้วหลายๆ คนก็อยากจะไว้ผมยาวบ้าง ซอยบ้าง ผมก็เลยไว้ผมบ้าง แต่แปลกนะซึ่งก็คือทรงในบทความแรก และรูปด้านขวาของบทความนี้ ทรงในบทความแรกนั้นตัดตอนแสตนด์เครียด ส่วนทรงSC ตัดตอนแสตนด์สัน ซึ่งผู้ตัดคือคุณแม่น่ะเอง สำหรับแสตนด์นั้นก็มีกดดันบ้างในการซ้อมแต่รู้สึกไม่หนักหนาเพราะเคยผ่านแสตนด์เชียร์จตุรมิตร มาแล้ว ซึ่งจตุรพิษ(เขียนไม่ผิดหรอก) นั้นมีกีฬาหลายอย่าง อาทิเช่น ฟุตบอล ต่อยมวย วิ่ง(หนี) ฟันดาบ(มีด หรือฟุตเหล็ก) เป็นต้น ในสมัยนั้นโชคดีไม่เจอเหตุการณ์อะไรพวกนี้ รอดตัวไป เฮ้ยย้อนกลับไปมัธยมทำไม กลับมามหาลัยสิ แสตนด์สันนั้นทำให้ผมหมดความศรัทธาในอาชีพหมอลงไปเยอะขอบอก รวมถึงพฤติกรรมต่างๆนาๆ ของเด็กคณะนี้ด้วย ทำให้สงสัยว่าหลักสูตรแพทย์คงต้องมีวิชาปรับบุคลิกให้เป็นหมอแน่ๆ เลย เพื่อนร่วมห้องคือหมอรามา 2 ท่าน อีกท่านไม่มี ดีห้องพักที่ศาลายาเนี่ย 3 คนกำลังดี 4 คนก็แน่นไป 2 คนเดี๋ยววมันเป็น....หรือเปล่าฟะ เหตุการณ์ประหลาดที่เจอตอนใกล้จบปีหนึ่งก็จะมีกระเทยมาร้องเสียงโหยหวนเรียกหาเพื่อนร่วมห้องกรูเนี่ย ตอนกลางคือนบางครั้งตื่นมาจะมีคนนั่งอยู่บนเตียงข้างๆ อย่าตกใจ เพื่อนหมอของเมดนั้นละ มาปรึกษามาคุยด้วยเพราะบางที่ผมหลับตอน 3 ทุ่มแล้วอย่างว่าเด็กหอมันนอนกันเร็วที่ไหนครับพี่น้อง ช่วงเบิกฟ้าไปลองสมัครหลายๆ ชมรมปรากฏสุดท้ายไปอยู่ชมรมยูโด เริ่มฝึกตั้งแต่ตบเบาะ ท่าทุ่มพื้นฐาน ได้ไปแข่งด้วยน้า ตอนนั้นไปเมืองคอนที่ม.วลัยลักษณ์ สนุกดีตลอดปีที่อยู่ชมรมแข่ง 5 ครั้ง แพ้ 5 หน เร็วสุดที่แพ้คือ 2 วินาที หน้าอายไหมละ แต่ต้องการบอกกล่าว การมาอยู่ชมรมกีฬาได้เป็นนักกีฬานั้น ทำให้พอเข้าใจอารฒณ์ของนักกีฬาที่ตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อที่จะเอาชนะของผมซ้อมมาครึ่งปี สุดท้ายในก๊ฬามหาลัยก็แพ้ตกรอบแรก ทำให้คิดขนาดเราที่ซ้อมครึ่งปีแพ้ ยังรู้สึกเจ็บใจเยอะนะ ถ้าพวกนักกีฬาโอลิมปิก เอเชียนเกมส์พวกนี้จะขนาดไหนนะ ทั้งแรงกดดัน ทั้งศักดิ์ศรีในฐานะตัวแทนประเทศ และอื่นๆ อีกเยอะ ไหนพ่นเรื่องกีฬาแล้วขอพ่นของตอนปี 3 ด้วยละกัน จับผลัดจับพลู๋ ไปอยู่ชมรมดาบไทย แต่ไม่จริงใจเหมือนตอนอยู่ยูโด และได้ไปแข่งด้วย และแพ้แต่ไม่รู้สึกอะไรเท่าไรนัก บอกแค่นี้ละสำหรับชีวิตนักกีฬาในม. อีกนิดนึงการอยู่ชมรมยูโด ทำให้ได้เที่ยวกลางคืน(คิดเอาเองรุ่นพี่ชมรมดีแค่ไหน) จำได้ว่ากลับมาต4กว่ามานอนที่ห้องชมรม 6โมงหอเปิดก็เข้าไปนอนหอต่อ รู้สึกเป็นอะไรที่ไร้สาระนะ การเที่ยวกลางคืนเนี่ย
เป็นพวกชอบสันแต่ไม่ได้อยู่ฝ่ายสันเพราะช่วงที่เค้าทดสอบย้องสัน รับน้องสันเนี่ยไปซ้อมยูโดอย่างเดียว เวลาทำค่ายก็ไปอยู่ฝ่ายพัสดุ เป็นGB General เบ๊(สะกดอังกฤษไม่เป็นครับ) เป็นกรรมกรแบกหามชั้นดีเคยได้ชื่อว่าโลตัสเคลื่อนที่ ใครตั้งไม่รู้ เอาละจบเรื่องราวของปีหนึ่งแล้วมั้งที่เหลือจะพ่นเป็นวงกว้างรวมๆ ละนะ สิ่งที่รู้ดีอย่างหนึ่งคือวิชาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเพราะเป็นวิชาที่ทุ่มให้ในการอ่านหนังสือเเละเกรดก็ออกมาโอเคมาก เอ นั่นละ จำหมีน้ำได้ ผมมีความเชื่อว่าภาพยนตร์ที่บางคนเห็นว่าไร้สาระสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ ขอยกมาเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวโดยตรงคือเรื่อง Kungfa dunk ที่ jay chou เล่นบอกตามตรงว่าไม่รู้จักดาราคนนี้มาก่อนและเผอิญได้ดูตอนคือนส่งท้ายปี 2551 ซึ่งชอบเพลงประกอบภาพยนตร์มาก ขอบใจเพื่อนปลาด้วยที่หาเพลงนี้มาให้ฟัง แล้วไม่แน่ใจว่าวันที่ 1 ,2หรือ3 ม.ค.2552 ไปและ ไปหาเรียนดีกว่าไอ้ที่เค้าเรียกกังฟูเนี่ย ง่ายๆ แค่นั้นเลยครับแค่ประทับใจหนังเรื่องนี้ประกอบกับมีความสนใจบ้างเล็กๆน้อยแต่ไม่เคยจริงจังอะไร แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ไปฝึกแล้ว เริ่มขี้เกียจตื่นสาย อะไรพวกเนี่ย ทำให้รู้ว่าที่เรียกกังฟูน่ะไม่ได้แปลว่าวิชาต่อสู้หรือมวยจีนหรอก อารมณ์มันประมาณว่าความช่ำชองหรือเวลาว่างอะไรพวกเนี่ยละ ส่วนศิลปะการต่อสู้ของจีนนั้นจะเรียกรวมๆ ว่าwushu เนื่องจากการได้ฝึกพวกนี้ทำให้ชอบใส่กางเกงวอร์มเนื่องจากว่ามันยืดหยุ่นได้ดีเมื่อเทียบกับ ยีนส์หรือกางเกงนศ. ส่วนรูปอีกรูปที่ยังไม่ได้พูดจะบอกว่ารูปนี้ให้ช่างแถวบ้านตัดให้เมื่อตอนปักกิ่งเกมส์ คิดว่าทุกๆท่านคงรู้แล้วนะครับว่าเป็นรูปอะไรพยายามอมองให้ออกละกันนะ ที่เหลือก็ไม่ค่อยมีอะไรพูดแล้วละจะมีก็ตอนนี้นั่นคือทางแพร่งแห่งการทำงานและการเรียนต่อ และตนมีความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ตอบสนองความโลภของมนุษย์มิใช่เป็นศาสตร์แห่งการหาความจริง ทำให้สมควรที่จะพูดว่า "The science is never die but the science diefrom my heart." อันนี้เป็นความคิดก็คุยกับกอลิลานะครับ ยังไงก็ขอขอบคุณเครื่องคอมที่บ้าน ที่มหาลัย นะครับที่ใช้เขียนบทความเหล่านี้
สุดท้าย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา และสิ่งที่เรากระทำจะเป็นตัวกำหนดตัวตนของเราในปัจจุบันและในอนาคต
และ
The longest journey is the journey in wards.
Dag Hammarskjold

Tuesday, November 23, 2010

SoLo Time มาแล้ว

บ่ายนี้หลังเรียน Biochem กับ Molecular Biology ก็ขับมอเตอร์ไซด์มาสวนสัตว์ดุสิตด้วยความเหนื่อยล้าสมองเล็กๆ เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนอู่ทองใน ตกใจเล็กน้อย เมื่อพบกับการชุมนุมต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ ของกลุ่มพันธมิตร




กลัวเล็กน้อยตอนขับผ่าน เพราะไม่เคยใกล้ชิดการชุมนุมขนาดนี้ แล้วก็เข้าสวนสัตว์ วันนี้แปลกที่ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตู (ปกตินักศึกษา 30 บาท) กะว่าจะไปดูการแสดงแมวน้ำซัก 20 นาที ก่อนไป solo tiome แต่ไปถึงแมวน้ำเริ่มแสดงไปแล้ว (เคยไปดูมา แมวน้ำน่ารักมาก น่าดู ค่าดู 10 บาทเอง มีรอบ 10.30 12.30 15.00) ก็เลยเดินหาที่ทาง มีคนกระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มเด็กนักเรียน บลา บลา เดินไปเรื่อยๆ ไปเจอเกาะนก เป็นกรงนกขนาดใหญ่ สถานที่เงียบ มีน้ำตก ทางเข้าเหม็นขี้นกเล็กน้อย มีที่นั่งเป็นปูน ขอนไม้ มีนก ok มากๆ เสียงนกหลากหลายชนิด กระรอกเยอะมาก นกหลายชนิด นั่งเพลินดีทีเดียว ถ้าใครยังหาที่ไม่ได้ เชียร์ครับ อากาศเย็นสบาย คนไม่เยอะ แล้วสวนสัตว์ดุสิตก็อยู่ใกล้คณะเรานิดเดียว




สองชั่วโมงเร็วกว่าที่คิด พอตอนเขียนก็เขียนเพลินเลย สนุกมากครับ มีโอกาสคงได้แชร์เพิ่มเติมครับ

^ ^


(นกสองตัวที่มาอยู่ใกล้ๆเกือบชั่วโมง น่ารักมากกก)


ปล. ขอบคุณสัตว์ ขอบคุณต้นไม้ ขอบคุณเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณพี่ๆ ขอบคุณคลาส ขอบคุณตัวเอง และขอบคุณครับ


ชีวิตที่ไม่เคยธรรมดา ของคนที่สุดแสนจะธรรมดา

ถ้าคอร์สนี้เปรียบเหมือนการเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน มีอาจารย์เอเชียเป็นต้นหนค่อยบอกทิศทาง มีสมาชิกทุกๆคนเป็นผู้ร่วมเดินทาง และการแนะนำตัวเป็นเหมือนการนั่งล้อมวงเปิดอกแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แจง ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกคนรู้จักคนธรรมดาคนนี้ ที่ชื่อ ชนากานต์ ศรีพงษ์
แรกเริ่มเดิมทีเธอมีชื่อว่า นภาศิริ ศรีพงษ์ แล้วแม่ก็เปลี่ยนชื่อให้ด้วยสาเหตุใดไม่ทราบได้ เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ก่อนวันแม่หนึ่งวัน แม่ชอบเล่าให้ฟังเสมอว่า ใจจริงๆอยากให้เธอลืมตาขึ้นมาในวันที่ 12 ซึ่งเป็นวันที่เป็นศิริมงคง แต่เริ่มปวดท้องใกล้คลอดตั้งแต่ตอนช่วงบ่ายของวันที่ 11 แต่ก็ทนกลั้นใจไว้ จนถึงช่วงประมาณ 2 ทุ่ม ก็สุดที่จะกลั้นไว้ไหว เผลอแป็บเดียวตัวเธอก็หลุดออกมานอนร้อง อุแว๊ๆๆ อยู่ข้างๆเตียงเสียแล้ว สงสัยเพราะไม่มีวาสนาจริงๆ แต่ถึงกระนั้นเกิดวันนี้ก็ไม่ได้เสียหายอะไรดีซะกว่า คือเมื่อวันเกิดเวียนมาบรรจบทุกๆรอบปี เธอและแม่ก็จะไปหาอะไรๆอร่อยทานกัน 2 คนกระหนุงกระหนิง ประหนึ่งฉลองให้กันและกันแทน ^^

เมื่อแม่คลอดเธอออกมาแล้ว ด้วยความที่เป็นคุณแม่ยังสาว(ตอนที่คลอดแจงแม่อายุ 20 พอดีเลยค่ะ) เลยมีวิธีอันชาญฉลาดในการตั้งชื่อลูก โดยการเขียนชื่อต่างๆนานาที่อยากได้ ใส่ลงในกระป๋องขนาดย่อม แล้วให้เด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกไม่ถึงเดือนเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง สุดท้ายชื่อที่จับได้คือ จุ๊บแจง

เด็กหญิงจุ๊บแจง ถูกเลี้ยงดูและเติบโตมากับตาและยาย ในจังหวัดจันทบุรี บุคคลที่มีอิทธิพลในวัยเด็กของเธอมี 2 คน คนแรกคือคุณครูที่อยู่บ้านติดกันที่เธอจะไปหาและคลุกอยู่ที่นั้นทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน และเธอเรียกครูคนนี้ว่า”ยาย” (แจงเรียกยาย ว่าแม่ใหญ่ , เรียกตา ว่าพ่อ เรียกแมว ว่าคอม เรียกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของตัวเองว่า สลิ่ม โปรดอย่าแปลกใจในเรื่องนี้เลยค่ะ -_-“) ท่านสอนทุกอย่างที่ใช้ในการเรียนรู้ แม้กระทั่งว่าจะทำอย่างไรถึงจะออกไปพูดต่อหน้าคนเป็นร้อยๆได้โดยที่ไปประหม่า(และมันก็ติดตัวเธอมาจนถึงทุกวันนี้) อีกท่านหนึ่งคนที่ทำให้เธอเป็นเธออยู่ได้จนถึงทุกวันนี้คือพ่อ (อันที่จริงก็คือ ตา) พ่อเป็นแค่คนที่จบชั้นป.4 แต่ชอบเดินทางชอบออกไปเจอโลกกว้าง ท่านมักจะมีเรื่องอะไรต่อมิอะไรที่ท่านพบระหว่างการเดินทางมาเล่าให้เธอฟังเสมอ ท่านสอนให้เธอรู้จักโลกและรู้จักคน รู้จักฟัง เป็นครูสอนการใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้วยความที่มีแต่ผู้ใหญ่คอยดูแล ท่านจึงสอนเราให้เป็นผู้ใหญ่ คิดและตัดสินใจหลายๆอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยังเด็กมาก เธอไม่เคยร้องไห้งอแงเอาของเล่นเพราะรู้ว่าที่ไม่ได้เพราะอะไร ไม่เคยร้องขออะไรเพราะรู้ว่าถ้าอยากได้อะไรต้องอดทนเก็บเงินด้วยตัวเอง พอโตขึ้นอีกหน่อยเธอเลือกเล่นกีฬาให้เป็นทุกๆอย่างเพราะรู้ว่ามันจะทำให้เธอโตมาเป็นผู้ใหญ่แข็งแรงและเข้มแข็งในแบบที่การกีฬาจะสอนให้เราเข้าใจได้ โดยเฉพาะกีฬาป้องกันตัวจนคุณจะแปลกใจว่าเธอเล่นกีฬาอะไรเป็นบ้าง^^"

พอเริ่มเข้ามัธยมเธอก็เลือกเดินทางเดินของตัวเอง เธอเลือกโรงเรียนที่จะไปสอบเข้าเอง อ่านหนังสือเอง ไปสอบเอง เดินเรื่องทำเอกสารเอง และสุดท้ายเธอเข้าโรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัดได้ แต่เหมือนจะโชคร้ายที่ร.ร.อยู่ใกล้บ้านและเธอก็ขี่มอไซค์ไปเรียนเองทุกวัน ใช้เวลาเดินทางไปกี่นาทีก็ถึง มันเลยทำให้ติดนิสัย'มาสาย'ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ^^ แล้วการเข้าร.ร.หญิงล้วนมันก็ทำให้ความเป็นตัวของเธอเด่นชัดขึ้น เธอมองว่าการเรียนที่สักแต่เรียน แข่งขัน และแย่ชิง มันมีพื้นฐานของความเห็นแก่ตัวแอบซ่อนอยู่และมันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเธอปรารถนา เธอจึงเริ่มขวนขวายทำกิจกรรม เพื่อหาตัวตนของตัวเอง เธอเชื่อเสมอว่าถ้าไม่ลองออกไปทำแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ชีวิตเธอเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อวันหนึ่งเธอมองว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่จุดที่เธอควรยืน เธอคิดว่าเราสามารถเดินไปหาความฝันด้วยทางเดินของเราเองได้ ทางเดินที่เราชอบและปรารถนาจะเดินมัน พอตัดสินใจได้เธอบอกลาเพื่อนๆแล้วเดินไปที่ฝ่ายการศึกษาลาออกจากร.ร.มีชื่อแห่งนี้จากห้องที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดและเก่งที่สุด และเลือกเดินทางใหม่

ทางเดินใหม่ที่เธอเลือกเป็นที่ๆเธอประทับใจ อาจไม่ดูหรูหรา แต่เธอก็ไม่เคยเสียใจที่เลือกมัน

พอ
เข้ามหาลัยเธอก็ยังคงทำตามความปรารถนาของเธอ เธอมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ เธอได้ทำกิจกรรม เธอได้เรียนในสิ่งที่เธอชอบถึงแม้ความชอบกับเกรดมันไม่ได้แปรผันตรงกันเท่าไหร แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือมีความสุข ที่ได้ทำและเลือกทำสิ่งเหล่านี้ เคยบอกกับตัวเองว่าเป็นคนที่โชคดีที่สุดในโลกที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีคนที่ไว้ใจได้คอยเข้าใจเรา

พอขึ้นปี 2 เธอก้าวเข้าหาคำว่าเป็นผู้ใหญ่อีกขั้นหนึ่ง คือเธอเริ่มหาเงินเองได้ เธอรู้สึกว่าถ้าจุดมุ่งหมายของคนเราคือเรียนจบมีอาชีพ แล้วทำไมเราไม่หาอาชีพเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยหล่ะ อาชีพที่ง่ายดายสำหรับเด็กวิทย์อย่างเราก็คือการสอนพิเศษ อาชีพแสนง่ายค่าตอบแทนแสนงามสำหรับคนที่เอาสมองมาเป็นทรัพยากรหนึ่ง เธอเริ่มสอนพิเศษด้วยความหลงระเริงกับค่าตอบแทน เธอเคยได้เงินจากการสอนพิเศษมากที่สุดเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท แต่แล้วเธอก็พบว่ามันไม่ใช้สิ่งที่เธอปารถนาเช่นกัน เงินที่ได้มาง่ายก็ถูกจ่ายออกไปง่าย มันกลับทำให้เธอไม่เห็นคุณค่าของคำว่าเงินและใช้จ่ายทรัพยากรสมองตัวเองไปอย่างสิ้นเปลืองรวมถึงละเลยหน้าที่ๆสำคัญของตัวเองไป และแล้วเมื่อเข้าใจ มันก็คือความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงในความคิดเธอ เธออยากจะก้าวเดินต่อไปตามฝันที่เธอตั้งไว้ แต่หนทางจะเป็นอย่างไรก็สุดจะคาดเดา